วันนี้ (25
ก.พ. 64) เวลา 15.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ
รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดกิจกรรมภายใต้แนวทางให้บริการช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง
(Reflection
Period) สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ณ โรงแรมแบงค็อก มิดทาวน์ กรุงเทพมหานคร
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวว่า ด้วยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2563 (Trafficking In Persons Report 2020 : TIP Report) โดยจัดระดับประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 (Tier 2) ต่อเนื่อง เป็นปีที่ 3 เช่นเดียวกับปี 2561 และปี 2562 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาตระหนักถึงความพยายามและความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบทีประเทศไทยได้มุ่งมั่นในการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย โดยออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อการดำเนินงานของประเทศไทยในกระบวนการคัดแยกบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยควรมีช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง (Reflection Period) เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับบริการจากรัฐ มีช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรองหลังจากถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ และคำนึงถึงผลกระทบจากบาดแผลทางจิตใจเป็นสำคัญ รวมทั้งเพื่อให้ผู้เสียหายให้ความร่วมมือและยินยอมให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 กระทรวง พม.
จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทางานพิจารณาแนวทางการให้บริการช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง (Reflection Period) สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
ประกอบด้วย นายประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการพิเศษฝ่ายกิจการต่างประเทศ 1
สานักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะทำงาน
ผู้อำนวยการสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 8 แห่ง
และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ
โดยมีกองต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็นเลขานุการ ทั้งนี้ กระทรวง พม.
โดยกองต่อต้านการค้ามนุษย์
จึงได้จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดกิจกรรมภายใต้แนวทางให้บริการช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง (Reflection Period) สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
ระหว่างวันที่ 24 - 25 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ผู้แทนของสถานคุ้มครองฯ
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาและความสำคัญของการจัดทาแนวทางการให้บริการฯ และมีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมภายใต้ แนวทางการให้บริการฯ
อย่างเหมาะสมและสอดคลองกับภารกิจและหน้าที่ของหน่วยงาน
ด้วยการให้ความสำคัญกับผลกระทบจากบาดแผลทางด้านจิตใจและร่างกายของผู้เสียหาย หลังจากเผชิญเหตุการณ์การค้ามนุษย์เป็นสำคัญ
โดยยึดหลักผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นศูนย์กลางการให้บริการ (Victim-Centered
Approach)
นางสาวแรมรุ้ง
กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้
จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการต่อต้านการค้ามนุษย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้บริการช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง
(Reflection
Period) เนื่องจากแนวทางดังกล่าว
เป็นการขยายระยะเวลาในการฟื้นฟูและเยียวยาบาดแผลทางด้านร่างกายและจิตใจของกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากการตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งนี้
เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีความพร้อมและยินดีเข้าร่วมกระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพ
และเป็นการลดผลกระทบจากการถูกกระทำซ้ำจากการสืบสวนและสอบสวน ในขณะเดียวกัน
แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ผู้บังคับใช้กฎหมายมีระยะเวลาในการแสวงหาข้อเท็จจริง
หลักฐาน และพยาน เพื่อประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงระยะเวลาฟื้นฟูและไตร่ตรอง
(Reflection Period) เปรียบเสมือนการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีนัยสำคัญต่อไป