อาเซียน (ASEAN) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ Ministry of Social Development and Human Security
   1   2 
การประชุมอาเซียน
ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนคืออะไร

วันที่ 24 ส.ค. 2557 (จำนวนคนอ่าน38716คน)
ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 3 ประชาคมย่อย ได้แก่ 1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคง 2. ประชาคมเศรษฐกิจ และ 3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม โดยในแต่ละประชาคมจะมีแผนการทำงานของตนเองเรียกว่า Blueprint โดยภายในเนื้อหาของ Blueprint แต่ละเสาจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับคุณลักษณะของประชาคมนั้นๆ รวมถึงเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ และมาตรการเพื่อจะสร้างประชาคม
 
ในประเทศไทย หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานหลักของแต่ละประชาคมมีดังนี้
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคง มี กระทรวงการต่างประเทศ
2. ประชาคมเศรษฐกิจ มี กระทรวงพาณิชย์
3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
 
พม. ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 รับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2554 ให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักเพื่อประสานการดำเนินงานของเสาสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมอาเซียนที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีของเสาสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (SOCA) ซึ่งเป็นการประชุมระดับปลัดกระทรวงหรือรองปลัดกระทรวง และการประชุมอื่นๆ ที่ผู้แทนเสาสังคมและวัฒนธรรมได้รับเชิญให้เข้าร่วม
 
สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) นั้นมีกลไกการขับเคลื่อนคือคณะกรรมการขับเคลื่อนการเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน และมีหน่วยงานอีก 22 แห่งร่วมเป็นกรรมการ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555
 
ภายใต้แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC Blueprint) นั้นได้กำหนดการทำงานออกเป็น 6 คุณลักษณะ ได้แก่ 1. การพัฒนามนุษย 2. การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม 3. ความยุติธรรมและสิทธิ 4. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 5.การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และ 6.การลดช่องว่างการพัฒนา (ซึ่งจะเน้นประเทศที่เรียกว่า CLMV ซึ่งเป็นอักษรย่อของประเทศต่างๆ ที่เข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนในภายหลัง ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม เพื่อช่วยให้สามารถดำเนินการตามข้อตกลงต่างๆ ของอาเซียนได้)  
 
ในการทำงานเพื่อจะให้ครอบคลุมทั้ง 6 คุณลักษณะนั้น ภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) ได้แบ่งการทำงานออกเป็นความร่วมมือรายสาขา จำนวน 14 สาขา (นับจำนวนตามเว็บไซด์สำนักเลขาธิการอาเซียน http://www.asean.org/communities/asean-socio-cultural-community) และในแต่ละสาขาจะใช้กลไกการประชุมระดับรัฐมนตรีสาขาและการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ในการขับเคลื่อนแผนงาน โดยมีการจัดทำแผนงานและขอบเขตการทำงานของแต่ละสาขาเอง ซึ่งอาจใช้ชื่อเรียกว่า Framework หรือ Workplan ว่าในช่วงแผนที่ครอบคลุมระหว่างปีไหนถึงปีไหน จะเน้นการทำงานในเรื่องอะไรบ้าง
 
ในสไลด์ที่แนบมาข้างท้ายจะมีชื่อสาขา และชื่อย่อของหน่วยงานในประเทศไทยที่รับผิดชอบรายสาขา
 
ฉะนั้นบทบาทของ พม. คือทำหน้าที่ในการประสานงานของทั้ง 14 สาขาโดยใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนการเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2555 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการอีก 22 แห่ง คณะกรรมการขับเคลื่อนได้มีการจัดประชุมปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ คณะทำงานต่างๆ เพื่อไปดำเนินการในเรื่องเฉพาะ
 
สำหรับการดำเนินงานของแต่ละสาขาก็มีกลไกการประชุมทั้งในระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้วยเช่นกัน
 
ในส่วนของความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC Blueprint) นั้น ประเทศไทยได้มีการประเมินผลครึ่งแผน ในปี 2556 ผลการประเมินพบว่า ในภาพรวมของไทย จาก 338 มาตรการที่อยู่ใน ASCC Blueprint ดำเนินการไปแล้ว 218 มาตรการ (64%) อีก 53 มาตรการ (16%) อยู่ในระหว่างดำเนินการ และ 67 มาตรการ (20%) อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือไม่มีข้อมูล ฉะนั้นในส่วนของภาพรวมการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในส่วนของเสาสังคมและวัฒนธรรม ถือได้ว่าดำเนินการไปถึง 80% ก่อนที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 สำหรับมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาหรือไม่มีข้อมูลนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทำงานในลักษณะตัดขวาง ซึ่งต้องทำงานร่วมกับสาขาอื่น หรือเสาอื่น หรือต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ
 
สถานะล่าสุดเกี่ยวกับการดำเนินงานในปัจจุบัน คณะกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ได้มีคำสั่งที่ ๒/๒๕๕๗ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ โดยมีรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานอนุกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และรองปลัดกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่รองประธานอนุกรรมการ และผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม และผู้แทนกรมอาเซียน ทำหน้าที่อนุกรรมการและเลขานุการ องค์ประกอบคณะอนุกรรมการฯ รวมทั้งสิ้น จำนวน ๓๒ คน คณะอนุุกรรมการชุดใหม่นี้จะได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการทำงานของเสาสังคมและวัฒนธรรมต่อไป

รูปประกอบข่าว ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนคืออะไร รูปประกอบข่าว ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนคืออะไร รูปประกอบข่าว ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนคืออะไร
รูปประกอบข่าว ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนคืออะไร

 สงวนลิขสิทธิ์ © 2556 - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เลขที่ 1034 ถนนกรุงเกษม แขวงมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100